ข้อจำกัดความรับผิดชอบ (Disclaimer):
การตรวจปริมาณของ drug-specific IFN-ℽ releasing cells เพื่อช่วยในการวินิจฉัยยืนยันชนิดของยาที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุของอาการแพ้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเป็นแนวทางประกอบกับการวินิจฉัยทางคลินิกเพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วยผื่นแพ้ยาชนิดไม่เฉียบพลันที่มีปัญหาในการวินิจฉัย โดยยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยและไม่ถือว่าเป็นมาตรฐานการรักษาในแนวทางเวชปฏิบัติทั่วไป
ค่าความเชื่อมั่น (confidence scores) ของผลการตรวจ IFN-ℽ ELISpot assay ที่แสดงไว้ ณ ที่นี้ เป็นผลที่ได้จากการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติค (logistic regression analysis) ที่ให้ผลการคำนวณใกล้เคียงกับการวิเคราะห์โดยการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning analysis) จากข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการชนิดดังกล่าวและได้รับการให้ยาซ้ำ ดังที่ได้ระบุไว้ในแผนภูมิข้างต้น แต่ยังต้องการข้อมูลที่มากขึ้นเพื่อเพิ่มความเที่ยงตรงและแม่นยำในการวินิจฉัย ถ้ามีข้อมูลผลการให้ยาซ้ำในผู้ป่วย กรุณาส่งมาได้ที่ แบบรายงานผลการได้รับยาซ้ำในผู้ป่วยภายหลังได้รับผลตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยการแพ้ยา (The result of drug provocation in patients after receiving the result of in vitro testing for drug allergy diagnosis) หรือ allergymedchula@gmail.com เพื่อจะได้ปรับปรุง predictive model ให้มีความถูกต้องมากยิ่งขึ้นต่อไป
ข้อพึงระวัง: การนำผลการตรวจ IFN-ℽ ELISpot assay เพื่อใช้ในการวินิจฉัยยืนยันชนิดของยาที่สงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุของผื่นชนิดไม่เฉียบพลันอาจให้ผลคลาดเคลื่อนไปจากตัวเลขที่ให้ไว้เนื่องจากเหตุผลหลายประการดังต่อไปนี้
- ความผิดพลาดของแพทย์ในการวินิจฉัยประเภทของผื่นแพ้ยาและการประเมิน Naranjo scale หรือ ALDEN score เนื่องจากความแม่นยำในการวินิจฉัยยาที่เป็นสาเหตุของอาการแพ้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณของ drug-specific IFN-ℽ releasing cells แต่เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับตัวแปรอื่นร่วมด้วย เช่นประเภทของผื่นแพ้ยาและความน่าจะเป็นในการแพ้ยาจากการประเมินทางคลินิก เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (immunocompromised hosts) หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันอาจทำให้ระดับของ drug-specific IFN-ℽ releasing cells ที่ตรวจได้ต่ำกว่าความเป็นจริง
- ผู้ป่วยที่ส่งตรวจในขณะที่ภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นอย่างมาก อาจทำให้ระดับของ IFN-ℽ releasing cells อาจสูงกว่าความเป็นจริง
- การตรวจปริมาณของ drug-specific IFN-ℽ releasing cells มีประโยชน์ในการวินิจฉัยยืนยันสาเหตุของผื่นแพ้ยาชนิดไม่เฉียบพลันที่มีอาการค่อนข้างมาก เช่น generalized infiltrative MPE แต่ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับใช้ในการวินิจฉัยผื่นแพ้ยาชนิดเฉียบพลัน และมีความไวต่ำสำหรับผื่นชนิด simple MPE ที่มีอาการน้อยเนื่องจากอาจตรวจไม่พบ drug-specific T cells หรือผื่นแพ้ยาเฉพาะที่ เช่น fixed drug eruptions นอกจากนั้นแล้วยังไม่เหมาะสมที่จะใช้วินิจฉัยการแพ้ยาบางชนิดที่มีพิษต่อเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือมีผลต่อภูมิคุ้มกันโดยตรง เช่น ยาในกลุ่มเคมีบำบัด เป็นต้น
- การตรวจ IFN-ℽ ELISpot assay มีความไวต่ำสำหรับผื่นชนิด acute generalized exanthematous pustulosis เนื่องจากอาจต้องใช้การตรวจไซโตไคน์ชนิดอื่นร่วมด้วย
- นอกจากนั้นแล้ว ในกรณีที่มีผู้ป่วยเกิดผื่นแพ้ยาในขณะที่กำลังได้รับยาหลายชนิดในเวลาเดียวกัน เช่นในขณะที่ได้รับยาต้านวัณโรคหลายชนิด ค่าการวินิจฉัยของผลการตรวจ IFN-ℽ ELISpot assay ก็จะคลาดเคลื่อนได้มากกว่าเมื่อเทียบกับในกรณีที่ผู้ป่วยมียาที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุเพียงชนิดเดียว
ค่าความเชื่อมั่นในการวินิจฉัยชนิดของยาที่เป็นสาเหตุของการแพ้ยานี้ได้มาจากผลของ machine learning algorithms ซึ่งสามารถปรับให้มีความแม่นยำสูงขึ้นได้อีกในอนาคตเมื่อมีผลการได้ยาซ้ำในผู้ป่วยมาทำการเรียนรู้เป็นจำนวนมากขึ้น ดังนั้นถ้าท่านมีผลการให้ยาซ้ำในผู้ป่วยหลังการตรวจ IFN-ℽ ELISpot โปรดช่วยกรุณาแจ้งกลับมาทางแบบฟอร์มนี้ หรืออีเมล์มาที่ allergymedchula@gmail.com ได้โดยตรง